Monthly Archives: December 2014

การนำเสนอภาพของการถ่ายทำภาพยนตร์ผู้ถ่ายจำเป็นจะต้องกำหนดรูปแบบเพื่อกำหนดลักษณะภาพ

การถ่ายภาพยนตร์ทุกครั้งผู้ถ่ายทุกคนพยายามอย่างยิ่งในการบันทึกภาพเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจความหมายของภาพ ที่ถ่ายไว้มากที่สุดในขณะที่ภาพปรากฏจอทุก ๆ ช่วงเวลาที่ภาพยนตร์นำเสนอต่อผู้ชมภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจหลักของผู้ถ่ายภาพยนตร์ที่ต้องคิดพิจารณารูปแบบของการนำเสนอภาพ ที่ถูกต้องตรงเป้าหมายและปฏิบัติตามหลักการทางภาษาของภาพที่สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ซึ่งแน่นอนที่สุดภาพที่ถูกบันทึกอย่างถูกต้องสวยงามเพียบพร้อมด้วยองค์ประกอบแห่งศิลป์ ย่อมถ่ายทอดสื่อความหมายได้เด่นชัดและสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้ติดตามดูภาพยนตร์ ตลอดเวลาอย่างไม่เบื่อหน่าย  ในขณะเดียวกัน ภาพเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้เนื้อหาของภาพยนตร์มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

ถึงแม้ผู้ถ่ายจะยึดถือแนวทางที่กล่าวมาแล้วเป็นปัจจัยในการถ่ายภาพยนตร์ก็ตาม ก็ยังมีประเด็นหนึ่งฝังแน่นอยู่ในจิตสำนึกของผู้ถ่ายภาพยนตร์ทุกคนในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรในการถ่ายแต่ละครั้งจะสามารถควบคุมกล้องถ่ายภาพยนตร์ให้มีความมั่นคงและนิ่มนวล ไม่มีการสั่นกระตุกทุก ๆ สภาวะของการถ่ายทำ ไม่ว่าจะเป็นการ แพน  การทิลท์ ๆ การดอลลี่

การนำเสนอภาพแต่ละช่วงตอนของการถ่ายทำภาพยนตร์ ผู้ถ่ายจำเป็นจะต้องกำหนดรูปแบบเพื่อกำหนดลักษณะภาพให้สอดคล้องกับเนื้อหาและตรงตามวัตถุประสงค์หลักของภาพยนตร์ที่กำหนดไว้ แต่การที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ ตลอดจนวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม ทั้งนี้องค์ประกอบต่างๆ เป็นเงื่อนไขของการถ่ายทำ แต่ละครั้งไม่เหมือนกัน  เช่น สภาพของแสง สภาพของสี ลักษณะสถานที่ที่ถ่ายทำ ในแต่ละช่วงของวันฤดูการที่เปลี่ยนไป ตลอดจนฟิล์มที่นำมาใช้งานสิ่งต่างๆที่กล่าวมามีผลกระทบต่อการนำเสนอภาพทั้งสิ้น.

เพราฉะนั้นเรื่องของการถ่ายทำภาพยนตร์ ผู้ถ่ายทำจำเป็นจะต้องเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องของแสงและสีให้ถ่องแท้ เพราะแสงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดภาพและแสงอีกนั่นเองที่เป็นแหล่งของสีทั้งปวง  ด้วยเหตุนี้เอง นักถ่ายทุกคนจึงถือว่า แสง เป็นวัตถุดิบที่สำคัญที่สุด ดังนั้นผลของการบันทึกภาพที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่ทำการถ่ายทำ ย่อมได้รับอิทธิพลมาจากคุณภาพของแสง ความเข้มของแสงทิศทางของแสงและการแผ่กระจายของแสง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของแสงที่แปรเปลี่ยนไปตามวันเวลา และฤดูกาลของมัน