ภาพยนตร์ของไทยมีโอกาสได้ไปสร้างชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์ของโลกมากมาย อาทิ ฟ้าทะลายโจร สุริโยไท องค์บาก สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก กวนมึนโฮ เป็นต้น ขณะเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับพัฒนาการของภาพยนตร์ไทย ก็คือ การสร้างภาพยนตร์ต่างชาติที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย รวมถึงการมาทำเทคนิคหลังจากถ่ายทำเสร็จ (Post production) ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินที่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยจำนวนมาก แต่หลายคนอาจมองข้ามและละเลยการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ไป ทั้งๆที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายๆอย่าง
อุตสาหกรรมบันเทิง แบ่งได้เป็นสองประเภท ดังนี้ 1.) อุตสาหกรรมประเภทที่ต้องผ่านสื่อหรือการบริการด้านบันเทิง 2.) อุตสาหกรรมประเภทแสดงสด ภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) อุตสาหกรรมบันเทิงถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่การค้าบริการ “สาขาบริการโสตทัศน์” ซึ่งครอบคลุมธุรกิจการบริการเกี่ยวกับภาพยนตร์ (ไม่รวมโฆษณา) ในบริบทการค้าในอุตสาหกรรมบันเทิง ถ้าพิจารณาจากรายได้พบว่าประเทศไทยรับรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยจำนวนมากและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพราะมีการจ้างงานในประเทศทำให้เกิดการกระจายรายได้มากมาย เชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆอีก เช่น ธุรกิจบริการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจออกแบบตัดเย็บ เป็นต้น ปัจจัยการผลิตในอุตสาหกรรมบันเทิงเน้นการใช้ฐานความรู้ในการผลิต
สาเหตุที่ต่างประเทศนิยมมาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย เพราะไทยมีอุปกรณ์คุณภาพสูง ทัศนียภาพสวยงาม มีโครงสร้างสาธารณูปโภคดี และทีมงานชาวไทยทำงานได้ดี และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก ประเทศญี่ปุ่นได้ขอเข้ามาถ่ายทำในไทยมากที่สุด รองลงมา คือ ประเทศจากยุโรป จีน อินเดีย ฮ่องกง สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ตามลำดับ
การเจรจาเปิดเสรีการค้าด้านบริการธุรกิจบันเทิงแบบพหุภาคีดูจะไม่ค่อยมีความคืบหน้า เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่างของกลุ่มประเทศสมาชิกสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกามองภาคบริการโสตทัศน์เป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ แต่อีกฝ่ายนำโดยสหภาพยุโรปมองว่าเป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม อุดมคติ และความเชื่อ ซึ่งทั้งสองมุมมองไม่สามารถใช้กฎระเบียบการค้าเดียวกันได้ สำหรับประเทศไทยมีการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีทวิภาคี 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย จีน นิวซีแลนด์ บาห์เรน และเปรู