อุตสาหกรรมภาพยนตร์มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจต่างๆ หลาย ธุรกิจ โดยพิจารณาได้จากรายชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากที่ปรากฏในตอนท้ายของภาพยนตร์ เช่น การผลิตภาพยนตร์ การจัดจำหน่ายภาพยนตร์การตัดต่อฟิลม์ การบันทึกเสียงและการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น ที่สำคัญ อุตสาหกรรมภาพยนตร์สามารถครอบงำและปรับเปลี่ยนแนวคิด
เกี่ยวกับวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมอันดีงามของสังคมได้ ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาให้ความสำคัญ โดยมีมาตรการในการสนับสนุนและปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศสที่เอาจริงเอาจังกับการปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตนไม่ให้ถูกครอบงำโดยภาพยนตร์อเมริกัน โดยให้การอุดหนุนด้านการเงิน (subsidy) และการกำหนดโควตาการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศด้วย หลักเกณฑ์ข้อหนึ่งที่รัฐบาลฝรั่งเศสกำหนดขึ้น คือ ในแต่ละปีโรงภาพยนตร์จะต้องฉายภาพยนตร์ฝรั่งเศสอย่างน้อย 16 สัปดาห์
ส่วนสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ผลิตภาพยนตร์มากเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย แต่มีรายได้จากการจำหน่ายภาพยนตร์มากเป็นอันดับหนึ่ง คือ มีรายได้ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ภาพยนตร์ทั่วโลก สหรัฐฯจึงต้องการผลักดันให้ประเทศต่างๆ ลด/ยกเลิกมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตนลงโดยรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นธุรกิจการให้บริการสาขาหนึ่งที่ต้องนำมาเจรจาเปิดเสรีในกรอบการเจรจาการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) รอบอุรุกวัย แม้จะได้รับการคัดค้านอย่างเต็มที่จากฝรั่งเศส โดยอ้างเหตุผลด้านวัฒนธรรมก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถต้านทานแรงผลักดันของสหรัฐฯ ได้
หลังจากที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ถูกนำไปผนวกเป็นธุรกิจบริการสาขาหนึ่งที่ต้องนำมาเจรจาเปิดเสรีใน WTO แล้ว การเจรจาเปิดเสรีในเวทีอื่นๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคีเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ก็ได้นำอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาเป็นประเด็นหนึ่งที่นำมาเจรจาเปิดเสรีระหว่างกันด้วย แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ไทยจะขยายตัว แต่ยังมีการกระจุกตัวของบริษัทผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ซึ่งมีเพียงไม่กี่รายและเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทร่วมทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมทุนกับบริษัทจัดจำหน่ายของสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 90% ของตลาดภาพยนตร์ในไทย