การเลือกสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์

เคยนึกแปลกใจบ้างหรือไม่ว่า ทำไมชาวต่างชาติจึงรู้จักประเทศไทย และพากันหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวชมความงดงามของสยามเมืองยิ้มอย่างไม่ขาดสายแน่นอนว่า การประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวในสื่อต่างๆ ย่อมมีผล และ “ภาพยนตร์” ก็เป็นสื่อหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งมันเรียก “แขก” ได้ดีพอสมควร

ยืนยันได้จากภาพยนตร์ต่างประเทศหลายๆ เรื่องที่ถ่ายทำในประเทศไทย ส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น James Bond 007, Good Morning Vietnam, The Beach หรือล่าสุด Lost in Thailand ที่เรตติ้งดีกระจาย พลเมืองแดนมังกรพากันล่องใต้มาเยี่ยมชมความสวยงามของเมืองไทยจนเจ้าของประเทศตั้งรับแทบไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม การมี “ต้นทุน” ที่สมบูรณ์ทั้งในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม หรือประเพณีที่ดีงาม อาจไม่ใช่ทั้งหมดของการเลือกใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ของชาวต่างชาติ เพราะจากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการต่างประเทศส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เลือกเมืองไทยเพราะ “คนไทย” ฝีมือดีและมีความพร้อม “จริงๆ สภาพธรรมชาติ บ้านเมืองอาจไม่แตกต่างกันมาก แต่สำหรับผมสิ่งที่ประเทศไทยไม่เหมือนใครเลยก็คือผู้คน” Arslan Hafiz Location manager และ Production Manager จากประเทศฝรั่งเศส บอกอย่างนั้น

เช่นเดียวกับ Ada Shen Production manager สาวชาวจีน ที่มีผลงานชื่อดังอย่างภาพยนตร์ Kill Bill ยืนยันว่า “คนไทยเก่งจริงๆ” และเธอก็กำลังตัดสินใจว่า จะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ในประเทศไทย

หากย้อนกลับไป ประเทศไทยเปิดรับผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยเป็นเวลานาน และนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ตัวเลขของรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยก็ไม่เคยต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หรือบางปีก็ทะลุ 2,000 ล้านบาท จะมีเพียงปี 2552 เท่านั้นที่มีรายได้รวมเพียง 897.83 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากความไม่สงบทางการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนาน แต่สถานการณ์หลังจากนั้นก็ดีขึ้นเป็นลำดับ จนปี 2556 นี้ตัวเลขทำท่าว่าจะกระโดดขึ้นไปแตะที่เลข 2,000 ล้านบาทแบบสบายๆ

หลังจากประสบความสำเร็จจากการจัดเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ทางกองกิจการภาพยนตร์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กลับมาจัดเทศกาลภาพยนตร์ดังกล่าวอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 20-29 เมษายน 2014 ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ วัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการเผยแพร่ศักยภาพของประเทศไทยในความพร้อมด้านการบริการ ดึงดูดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งในปี 2014 ตั้งเป้าการขยายตัวของรายได้อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2013 ที่มีรายได้ 2,175 ล้านบาท ปัจจุบันไทยเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ตอบแทนทั้งด้านลดหย่อนภาษีอุปกรณ์ ภาษีนักแสดง มีการคืนเงิน 30% ของมูลค่าผลิตภาพยนตร์ระหว่างการถ่ายทำ บ้านเราช่วงนี้หยุดชะงัก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้กองกิจการภาพยนตร์ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น